หนาวแล้ววววว…นะ มาดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรกันเถอะ

หนาวแล้ววววว…นะ
มาดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรกันเถอะ

.           ตามหลักและทฤษฎีของศาสตร์การแพทย์แผนไทย ในช่วงอากาศหนาวมักจะส่งผลให้ธาตุน้ำในร่างกายเกิดความแปรปรวนหรือเสียสมดุลได้ง่าย ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือร่างกายไม่สามารถปรับตัวตามสภาพอากาศได้ทัน จึงทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธาตุน้ำ เช่น หวัด น้ำมูกไหล ภูมิแพ้อากาศ หากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น

ผลจากการแปรปรวนของธาตุน้ำ จะทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เกิดอาการไอ จาม คัดจมูก ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ส่งผลต่อธาตุไฟในร่างกายเสียสมดุลไปด้วย เกิดอาการไข้ เจ็บคอหรือเกิดอาการอักเสบตามมาซึ่งสมุนไพรที่นำมาแนะนำจะเป็นสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว รสขม และรสเผ็ดร้อน

สมุนไพรรสเปรี้ยว จะช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ เช่น  ชะมวง มะขามป้อม มะเขือพวง

  

 

 

 

 

 

 

 

สมุนไพรรสขม แก้ไข้เจริญอาหาร นอนหลับสบาย เช่น ดอกแค ขี้เหล็ก

 

 

สมุนไพรรสเผ็ดร้อน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี เพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายเช่น กะเพรา หอมแดง ขิง ผักชี กระชาย พริกไทย

.              อีกทั้งในศาสตร์การแพทย์แผนไทยยังมีวิธีการรักษาอาการทางระบบทางเดินหายใจ นั่นก็คือ “การสุมยา” โดยการนำสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยมารวมกัน แล้วใช้ความร้อนจากน้ำร้อนเป็นตัวกระตุ้นให้น้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในตัวยาระเหยออกมาเพื่อลดอาการหวัดคัดจมูก

สมุนไพรที่ใช้        

สมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น หอมแดง ผิวมะกรูด ขมิ้น ตะไคร้ ขิง ข่า ใบกะเพรา โหระพา ดอกปีบหรือสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องต้มยำ

 

อุปกรณ์ที่ใช้      1.ผ้าขนหนู       2. กะละมัง

ขั้นตอน

1.นำน้ำร้อนใส่ในภาชนะที่มีขนาดพอดีกับหน้า จากนั้นนำสมุนไพรที่หั่นแล้ว ใส่ลงในน้ำร้อน แช่ไว้สักพัก

2.เมื่อกลิ่นสมุนไพรเริ่มออก นำผ้าคลุมศีรษะและสูดดมไอน้ำที่ลอยขึ้นมาให้พอได้กลิ่นสมุนไพร ทำประมาณ 15-30 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

 

ประโยชน์ คือ น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ช่วยขยายหลอดเลือดฝอย ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นบรรเทาอาการคัดจมูก ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจไม่สะดวก

ข้อควรระวัง คือ ห้ามสูดใกล้มากจนเกินไป อาจทำให้แสบร้อนบริเวณใบหน้าได้ หากมีอาการแน่น อึดอัด ควรหยุดสุมยาทันที ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง มีไข้ และผู้ที่มีประวัติการแพ้สมุนไพร

 

เนื้อหาบทความจาก งานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลฉลอง (รอบบทความ: 12 พฤศจิกายน 2564)