โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หรือ คนไทยรู้จักกันในชื่อ โรคสันนิบาตลูกนก

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หรือ คนไทยรู้จักกันในชื่อ โรคสันนิบาตลูกนก

.            เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทในสมองส่วนเบซัลแกงเกลีย (Basal ganglion) โดยสามารถผลิตสารสื่อประสาท ‘โดปามีน’ (Dopamine) ได้ลดลง จึงมีผลทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ  โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ การดำเนินของโรคจะค่อยๆพัฒนาทีละน้อย (Progressive disorder) และจะมีผลกระทบต่อผู้ป่วยในระยะยาว

สาเหตุ

  • พันธุกรรม
  • ได้รับสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเวลานาน: ตะกั่ว เหล็ก ทองแดง
  • เกษตร: ใช้ยาฆ่าแมลง สัมผัสโลหะหนักนานกว่า 20 ปี
  • สารเสพติด: เฮโรอีน ยาบ้า
  • ติดเชื้อไวรัส

อาการแสดง

ในช่วงแรกอาการแสดงจะน้อยมากจนยากจะสังเกต โดยเริ่มแสดงชัดในข้างเดียว เมื่อโรคพัฒนาขึ้นจะแสดงอาการของโรคทั้งสองข้างของร่างกาย

  1. สั่นเกร็ง (Tremor) : ลักษณะเป็นการสั่นขณะพัก (Resting tremor) เริ่มที่ส่วนนิ้วมือ มือ ลักษณะเหมือนกำลังปั้นยา (Pill rolling) เมื่อเริ่มขยับ ทำกิจกรรมอาการสั่นจะลดลง
  1. แข็งเกร็ง (Rigidity) : กล้ามเนื้อและข้อต่อจะแข็งเกร็ง ติดแน่น องศาการเคลื่อนไหวลดลง
  1. เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) : ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการเริ่มต้นการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวได้ช้า ก้าวเดินได้สั้นๆ ในบางครั้งจะก้าวเท้ายากหรือก้าวเท้าไม่ออก
  1. มีปัญหาการทรงตัว (Posture&Balance) :  ผู้ป่วยมักจะอยู่ในท่าหลังค่อม (Stoop posture)
  1. ไม่แสดงสีหน้า (Masking face)   ปัญหาด้านอื่นๆ
  •        พูดไม่ชัด พูดช้า พูดเบาลง
  •        มีปัญหาด้านความจำ ความจำเสื่อม การเข้าสังคม

 

การรักษา

การแพทย์ : รับประทานยากลุ่ม ‘Levodopa’ เพื่อเพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาตามอาการของผู้ป่วย

กายภาพบำบัด

  • ออกกำลังกาย : เพื่อพัฒนาและคงสภาพการเคลื่อนไหว เน้นออกออกกำลังกายแบบหลากหลาย เช่น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอดตลอดจนเพิ่มความสามารถในการทรงตัว
  • ฝึกการเดิน : การหมุนตัวเป็นจังหวะที่ถูกต้อง มั่นคง วิธีป้องกันการล้ม
  • ฝึกสอนการผ่อนคลายความตึงเครียด : จัดกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมที่พัฒนาส่งเสริมการคิด ความจำ

การดูแลผู้ป่วย

  • ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการทรงตัว การเคลื่อนไหว ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุล้มได้ ดังนั้นญาติจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ป่วยจะมีอารมณ์แปรปรวน มักแยกตัว มีความเครียด คนในครอบครัวควรให้กำลังใจ ทำความเข้าใจกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
  • ดูแลการรับประทานอาหารให้ถูกตามหลักโภชนาการ รับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ

 

เนื้อหาบทความจาก งานกายภาพบำบัด โรงพยาบาลฉลอง (รอบบทความ: 27 พ.ย. 64)