แผลเบาหวาน (Diabetic Ulcer)

แผลเบาหวาน (Diabetic Ulcer) 

แผลเบาหวานเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยที่ต้องควบคุมอาการของโรคเบาหวาน ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือไร้ความรู้สึกบริเวณปลายมือและเท้า จึงเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเกิดแผลมากขึ้น เมื่อเกิดแผลเลือดก็จะไหลเวียนบริเวณแผลได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากหลอดเลือดทำงานผิดปกติด้วยเช่นกัน จึงทำให้แผลหายช้าหรือกลายเป็นแผลเรื้อรังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะพบแผลเหล่านี้ที่บริเวณนิ้วโป้ง และเนินปลายเท้า ซึ่งหากไม่รักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้องอาจนำไปสู่การตัดอวัยวะเนื่องจากการติดเชื้อได้ในที่สุด

 

อาการแผลเบาหวาน

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคเบาหวานจะไม่รู้ว่าตัวเองเกิดแผลเบาหวานขึ้น โดยเฉพาะแผลที่เท้า ซึ่งสัญญาณแรก ๆ ของการเกิดแผลเบาหวานคือ อาจมีน้ำหนองไหลออกมามากผิดปกติ อวัยวะที่เกิดแผลมีอาการบวมแดงผิดปกติ และรู้สึกเจ็บหรือระคายเคือง และอาจมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ

ทั้งนี้ หากระบบเลือดไหลเวียนไปที่แผลไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย ซึ่งสังเกตเห็นได้จากผิวหนังที่เปลี่ยนสีกลายเป็นสีดำบริเวณรอบ ๆ แผล โดยมักจะเกิดขึ้นที่นิ้วเท้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะนำมาสู่การติดเชื้อ และทำให้มีหนองซึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากแผล เกิดอาการชา หรือเจ็บบริเวณแผลได้ในที่สุด โดยแผลเบาหวานนั้นแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ

ระดับ 0 ไม่มีอาการของแผลเปื่อย

ระดับ 1 มีแผลเกิดขึ้นแต่ไม่มีอาการอักเสบ

ระดับ 2 แผลลึกจนเห็นเส้นเอ็นและกระดูก

ระดับ 3 แผลมีการลุกลามในบริเวณกว้าง และมีฝีเกิดขึ้น

 

สาเหตุของแผลเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและหลอดเลือด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเบาหวาน เพราะเมื่อผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเพียงพอ น้ำตาลในเลือดจะไปทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม นำมาสู่อาการชาหรือไร้ความรู้สึกที่บริเวณเท้าได้

เมื่อสูญเสียความรู้สึกบริเวณเท้าแล้วจะทำให้ผู้ป่วยแทบไม่รู้ตัวหากเกิดรองเท้ากัด รอยบาด หรืออุบัติเหตุที่เท้า ยิ่งไปกว่านั้นความเสียหายของหลอดเลือดจะทำให้เลือดไหลเวียนไปยังหลอดเลือดส่วนปลายได้ไม่ดีนัก ก่อให้เกิดภาวะขาดเลือดเฉพาะที่ (Ischaemia) และแผลที่เกิดขึ้นจะมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้แผลหายช้าและกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด   ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเบาหวานมากที่สุด มักมีลักษณะอาการดังนี้

1.มีอาการของโรคเส้นประสาท (Neuropathy)

2.ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี

3.มักสวมใส่รองเท้าที่ไม่สบายเท้า และติดนิสัยเดินเท้าเปล่า

 

การป้องกันแผลเบาหวาน

  • ผู้ป่วยเบาหวานป้องกันการเกิดแผลเบาหวานได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับไขมันในเลือด ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงจนเกินไป อีกทั้งยังควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ รวมถึงระมัดระวังไม่ให้เกิดแผล โดยเฉพาะเท้า ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
  • ล้างเท้าให้สะอาดทุกวัน
  • ตัดเล็บเท้าอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้ยาวหรือตัดสั้นจนเกินไป
  • พยายามให้เท้าแห้ง และมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • ซักถุงเท้าที่สวมใส่บ่อย ๆ
  • ดูแลเท้าให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ หากมีตาปลาหรือบริเวณที่มีหนังด้านควรไปพบแพทย์เพื่อรักษา
  • สวมรองเท้าที่พอดีกับเท้า และสวมใส่สบาย
  • นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากเป็นผู้ป่วยที่เคยมีแผลเบาหวานที่เท้ามาก่อนแล้ว เมื่อรักษาหายแพทย์อาจแนะนำให้สวมใส่รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของแผลเบาหวาน
  • ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับเหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้น้ำตาลในเลือดสร้างความเสียหายแก่หลอดเลือด

การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผลเบาหวาน

ในเบื้องต้นหากผู้ป่วยมีแผลเบาหวานเกิดขึ้น ควรหยุดใช้งานอวัยวะดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดแรงดันที่แผลจนทำให้เกิดการติดเชื้อหรือแผลขยายใหญ่ขึ้น

หากเป็นแผลที่เกิดจากของมีคมมีลักษณะเป็นรอยขีดข่วน ควรรีบล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำอุ่นและสบู่ก่อน จากนั้นเช็ดให้แห้งแล้วจึงใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่ผ่านการฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เพราะอาจทำให้แผลไม่แห้ง ทั้งนี้ หากแผลมีอาการบวมแดง และมีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกมาจากแผล ควรรีบไป พบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

เนื้อหาบทความจาก ห้องทำแผล-ฉีดยา โรงพยาบาลฉลอง (รอบบทความ: 12 ส.ค. 64)